6 สิ่งชวนทำ ช่วยเปลี่ยนชีวิตชาวออฟฟิศให้สุขภาพดี

ในแต่ละวัน คนเราได้ใช้ชีวิตกับการทำงานไปเกินครึ่งของ 24 ชั่วโมง โดยกว่า10 ชั่วโมงถูกใช้ไปในที่ทำงานเป็นหลักหลายคนใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน โดยมักจะนั่งอยู่ที่โต๊ะหรือหน้าคอมพิวเตอร์ การใช้ชีวิตแบบนั่งนิ่งนี้สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่างๆ มากมาย รวมถึงน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ท่าทางที่ไม่ถูกต้อง และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง ซึ่งใช่ว่าปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานจะแก้ไขไม่ได้ เพราะสาเหตุของปัญหาสุขภาพขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคุณระหว่างทำงาน ดังนั้นหากคุณต้องการมีสุขภาพกายที่แข็งแรง ลองปรับพฤติกรรมระหว่างการทำงานเหล่านี้ดู

  1. ดื่มน้ำสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน : อาจฟังดูไม่ยุ่งยากแต่อาจต้องหมั่นสังเกตว่าทั้งวันนั้นคุณดื่มน้ำได้มากเพียงพอหรือไม่ เพราะการดื่มน้ำที่ไม่เพียงพอส่งผลมากมายต่อร่างกาย ทั้งอาการหิวในยามบ่าย, อาการปวดศีรษะ, อารมณ์ การทำงานของสมอง และระดับพลังงานของคุณ โดยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และ สถาบันแพทยศาสตร์ แนะนำว่า ผู้หญิงควรดื่มน้ำให้ได้วันละประมาณ 2.7 ลิตร และ ผู้ชายควรดื่มวันละประมาณ 3.7 ลิตร คุณอาจจะเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการนำขวดน้ำมาวางบนโต๊ะและ ลองเปลี่ยนมาจิบน้ำให้ได้ทุกๆ ครึ่งชั่วโมงอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยเพิ่มอัตราการดื่มน้ำของคุณได้แล้ว
  2. เปลี่ยนมื้อว่างจุบจิบให้อร่อยและมีประโยชน์ : หลายคนอาจจะมีขนมกองโตอยู่ในลิ้นชักเปลี่ยนชามขนมเป็นชามผลไม้และถั่วดีกว่า ถึงแม้ว่าคุณไม่ได้มีความตั้งใจกินขนม(ที่ไม่ค่อยดีต่อสุขภาพ)เหล่านั้น แต่บางครั้งความเครียดจากการทำงานจะทำให้ร่างกายโหยหาของกินตามธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นถ้าฝืนร่างกายได้ยาก ลองปรับเปลี่ยนพื้นที่ของคุณด้วยการเตรียมของว่างเพื่อสุขภาพไว้ใกล้ตัว เช่นผลไม้หรือถั่ว เพราะการทานผลไม้และถั่วจะช่วยให้ร่างกายของคุณได้รับสารอาหารที่มีคุณภาพและวิตามินและแร่ธาตุหลากหลายชนิดพร้อมกับให้พลังงานที่จะช่วยให้คุณได้รับตลอดทั้งวัน แบบไม่ทำร้ายสุขภาพ
  3. ลุกขยับตัวอย่างสม่ำสมอ : หลายคนคิดว่าการนั่งทำงานนานๆ ทำให้มีสมาธิที่ดีกว่าการขยับตัวไปมา แต่ความจริงแล้วนั้นการนั่งนานเกินไป จะทำให้ร่างกายตึงเครียดจนเกิดอาการปวดหลัง อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจ อีกด้วย กลยุทธ์ง่ายๆ ในการเพิ่มการขยับตัวระหว่างวัน ลองตั้งนาฬิกาทุก 30 นาที สำหรับการยืนขึ้น 5 นาที เพื่อยืดเส้นยืดสายผ่อนคลายในส่วนหลัง ไหล่ สะโพก และคอ และอาจจะรวมถึงเพิ่มกิจกรรมขยับตัวอื่นๆ เช่น เดินขึ้นลงบันไดระหว่างวันเป็นต้น
  4. ปรับท่าทางการนั่งทำงานให้เหมาะสม : การนั่งในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลต่ออารมณ์ของคุณ การนั่งหลังงอจะลดการทำงานของปอด ทำให้เลือดมีออกซิเจนไปเลี้ยงสมองน้อยลง มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร และปวดคอ หากก้มมากมากเกินไป อย่างท่าการนั่งเล่นสมาร์ทโฟน วิธีการจัดท่านั่งให้เหมาะสม ควรมีลักษณะนั่งตัวตรง หลังไม่ค่อม ไหล่ไม่ห่อ คอตรง หน้าไม่ยื่นไปใกล้จอเกินไป
  1. ปรับพื้นที่การทำงานให้เหมาะสม : พื้นที่การทำงานมีผลต่อสุขภาพเช่นกัน พื้นที่ทำงานที่ดีต่อสุขภาพควรจะมีแสงสว่างเพียงพอ อากาศถ่ายเทสะดวก และไม่รก ช่วยป้องกันอาการปวดตาและปัญหาระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ การมีเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะกับสรีระ เช่น เก้าอี้นั่งสบายและโต๊ะทำงานในระดับความสูงที่เหมาะสม สามารถลดความเสี่ยงของอาการปวดหลังและคอได้
  2. เว้นระยะเรื่องงานและให้เวลากับตัวเองระหว่างวัน : การทำงานหน้าจอเป็นเวลานานๆ รวมถึงการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตลอดเวลาอาจทำให้ร่างกายและจิตใจเหนื่อยล้าได้ เนื่องจากสมองไม่ได้พัก ลองเว้นระยะโดยไม่จับโทรศัพท์ หรือเปิดคอมพิวเตอร์ทำงานในช่วงเวลาพักเพื่อลดความเครียดสะสม และทำให้คุณกลับมาทำงานได้ดีขึ้นอีกครั้ง

พฤติกรรมเหล่านี้ที่ชวนคุณมาปรับเปลี่ยน จะทำให้คุณมีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง แต่การจะไปถึงจุดนี้ได้นั้นต้องอาศัยความสม่ำเสมอในการทำพฤติกรรมเหล่านี้ ดังนั้นจึงควรดูแลสุขภาพของคุณตั้วแต่วันนี้ เพราะไม่มีใครดูแลสุขภาพดีเท่าตัวคุณเองอย่างแน่นอน

ที่มา :

https://rtwelter.com/blog/2020/01/27/6-ways-you-can-build-healthy-habits-at-work/

https://careerattraction.com/5-ways-encourage-healthy-habits-workplace/

https://newsinhealth.nih.gov/2018/03/creating-healthy-habits

https://wellness.syr.edu/healthy-campus/healthy-habits/

https://swedishcovenant.org/community/patient-stories-wellness-articles-and-blogs/wellness-articles/diet-and-lifestyle/six-healthy-habits-for-the-workplace-that-you-can-adopt-right-now