มะเร็งเต้านม..โรคอันตรายในผู้หญิงที่ต้องหมั่นตรวจเช็ก
โรคมะเร็งเต้านมถือเป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบได้มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 2.3 ล้านรายทั่วโลกในปี พ.ศ. 2563 หรือหากลองดูเฉพาะสถิติในประเทศไทยก็จะพบว่ามีผู้หญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมจำนวน 38,559 ราย ซึ่งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย
โรคมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเซลล์ในเนื้อเยื่อเต้านมเริ่มเติบโตอย่างผิดปกติโดยจะพบมากในผู้หญิง แต่ผู้ชายก็สามารถเป็นได้เช่นกัน แม้ว่ามะเร็งเต้านมสามารถส่งผลกระทบต่อทุกคน แต่ผู้หญิงนั้นมีความเสี่ยงสูงกว่ามาก นี่เองเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้หญิงควรตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยง สัญญาณ และอาการของโรคมะเร็งเต้านมเพื่อป้องกันการป่วยเป็นโรคมะเร็งและลดอัตราเสี่ยงต่อการป่วยได้
อาการแบบนี้..สัญญาณเริ่มต้นของมะเร็งเต้านม
โรคมะเร็งเต้านมนั้นอันตรายถึงชีวิต แต่หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและเข้ารับการรักษาได้ทันเวลา ก็สามารถหายขาดจากโรคได้ไม่ยาก ดังนั้นการหมั่นสังเกตตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วระยะแรกของโรคมะเร็งเต้านมอาจจะไม่มีอาการแสดงให้เห็นชัดเจน การคลำก้อนเนื้อบริเวณเต้านม หรือใต้รักแร้อาจจะกดก็อาจจะมีอาการเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ จึงต้องสังเกตหลายๆ องค์ประกอบเข้าร่วม ลองมาตรวจสอบด้วยวิธีการเหล่านี้ดู
- อาการบวมที่เต้านม ไหปลาร้า หรือรักแร้ : อาการบวมในบริเวณเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่อาจบ่งชี้ถึงมะเร็งได้ เพราะ อาการบวมหรือมีก้อนบริเวณกระดูกไหปลาร้าหรือรักแร้อาจเกิดจากมะเร็งเต้านมที่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณดังกล่าว
- ผิวบริเวณเต้านมคล้ายผิวส้ม : หากผิวหนังเต้านมของคุณเริ่มหนาขึ้นและดูเหมือนผิวเปลือกส้ม ให้รีบตรวจทันที อาจเกิดจากโรคเต้านมอักเสบ การติดเชื้อนี้พบได้บ่อยในผู้ที่ให้นมบุตร แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกครั้ง และหากอาการของคุณไม่ดีขึ้นหลังจากผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ คุณควรเข้ารับการตรวจอีกครั้ง อาการเหล่านี้อาจเกิดจากมะเร็งเต้านมอักเสบได้เช่นกัน
- หัวนมมีการเปลี่ยนแปลง : ตามปกติหัวนมมีการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยเมื่ออายุมากขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่หัวนมจะเกิดการหดรั้งแล้วบุ๋มลง เช่นเดียวกับการที่เต้านมหรือหัวนมแดง แห้ง ลอก หรือหนาขึ้น อาจเป็นอาการติดเชื้อหรือการระคายเคือง แต่สำหรับการเปลี่ยนแปลงประเภทใด ๆ เหล่านี้ ถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณของโรคมะเร็งเต้านมเช่นกัน ที่ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจสอบ
- มีน้ำไหลออกมาจากหัวนม : การมีอย่างอื่นที่ไม่ใช่น้ำนมออกมาจากหัวนม อาจเกิดจากการบาดเจ็บ การติดเชื้อ หรือเนื้องอกที่ไม่ร้ายแรง (ไม่ใช่มะเร็ง) อย่างไรก็ตาม มะเร็งเต้านมมีความเป็นไปได้ หากของเหลวมีเลือดปน
- เจ็บหรือปวดเต้านมนอกประจำเดือนหรือในวัยหมดประจำเดือน : แม้ว่าอาการมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในเต้านมหรือหัวนม แต่ก็มีหลายคนที่มีอาการบ่อยครั้งที่ผู้หญิงมีอาการเจ็บเต้านมหรือรู้สึกไม่สบายเกี่ยวกับรอบเดือน รวมถึงอาการเจ็บเต้านมหลังวัยหมดระดู ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในสัญญาณเริ่มต้นของมะเร็งเต้านม
เลี่ยงลดเสี่ยง ปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านม
โรคมะเร็งเต้านมนั้นมีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่ผู้หญิงควรรู้ เพราะไม่เพียงเป็นการหลีกเลี่ยงการกระทำเพื่อลดโอกาสเสี่ยงแล้ว ยังช่วยให้คุณรู้ตัวหากคุณเข้าข่ายเสี่ยง เพื่อพบแพทย์ก่อนสายเกินไป
- อายุ: ความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมจะเพิ่มขึ้นเมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้น โดยส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
- ประวัติครอบครัว: หากในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม ก็ถือว่าคุณมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้
- การกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม: การกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมบางอย่าง เช่น BRCA1 และ BRCA2 สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้
- ฮอร์โมน: ผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย หมดประจำเดือนช้า หรือได้รับฮอร์โมนทดแทนจะมีความเสี่ยงสูงต่อมะเร็งเต้านม
- ปัจจัยด้านไลฟ์สไตล์: โรคอ้วน การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการขาดการออกกำลังกายสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้
ถึงเวลาตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมแล้วหรือยัง?
ถึงแม้ว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมนั้นมีความเสี่ยงสูงเมื่ออายุมากขึ้น โดยการตรวจที่สามารถเช็กโรคมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นได้นั้นคือวิธีการตรวจด้วยเมโมแกรม แต่ว่าการตรวจเมโมแกรมไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคนและทุกช่วงอายุ เพราะผู้หญิงอายุต่ำกว่า 40 ปี จะมีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมทำให้การตรวจหามะเร็งด้วยแมมโมแกรมทำได้ยากขึ้น ดังนั้นสำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-39 ปี อาจจะต้องหมั่นตรวจเต้านมตัวเองเป็นประจำ หากมีความผิดปกติหรือความน่าสงสัยควรรีบพบแพทย์ในทันที สำหรับผู้มีอายุระหว่าง 40- 69 ปี ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเมมโมแกรมทุก 1-2 ปีเป็นประจำ ทั้งนี้หากคุณมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น เคยรับการรักษามะเร็งเต้านมมาก่อน หรือมีประวัติที่ครอบครัวมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีตรวจคัดกรองที่เหมาะสมต่อไป
ที่มา :
https://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/breast-cancer
https://www.womenscareobgyn.com/health-library/uncommon-breast-cancer-symptoms
https://www.womenscareobgyn.com/health-library/6-steps-for-breast-cancer-prevention
https://www.cancer.org/cancer/breast-cancer.html
https://www.cdc.gov/cancer/breast/basic_info/what-is-breast-cancer.htm